ภาพรวมธุรกิจ
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายของ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “ESC”) เดิมดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้บริษัท น้ำตาลตะวันออก จำกัด (“ES”) ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2502 ณ ปัจจุบัน ESC ดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเป็นหลัก และดำเนินธุรกิจที่นำผลิตภัณฑ์พลอยได้ จากการผลิตน้ำตาลทราย มาทำให้เป็นประโยชน์ อาทิเช่น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ และธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ย
ในปี 2502 ES จัดตั้งโรงงานน้ำตาลตะวันออก ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีกำลังการหีบอ้อย 500 ตันอ้อยต่อวัน และเนื่องจากความใส่ใจและความตั้งใจในการพัฒนาธุรกิจของผู้บริหารและพนักงานตลอดจนถึงความสามารถในการหาอ้อยได้มากขึ้น ES จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบการผลิตและประสิทธิภาพเครื่องจักรให้ทันสมัย และทำให้ในปี 2534 สามารถเพิ่มกำลังการหีบอ้อยเป็น 12,000 ตันอ้อยต่อวัน ต่อมาในปี 2537 ES ย้ายโรงงานน้ำตาลทรายมาอยู่ที่ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรในอำเภอปลวกแดงและพื้นที่ข้างเคียงในจังหวัดระยองทำการขายให้แก่อุตสาหกรรม ซึ่งทำให้พื้นที่ในการปลูกอ้อยในบริเวณดังกล่าวลดลง นอกจากนี้ ES ยังต้องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลทรายให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของน้ำตาลทรายทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ ได้ขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่มเป็น 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ต่อมาในปี 2540 ES ได้ประสบผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศไทย ซึ่งทำให้ ES ต้องผ่านประบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และในปี 2547 ได้แยกธุรกิจน้ำตาลทรายทั้งหมดภายใต้ ES มาที่ บริษัทฯ เพื่อที่จะให้สามารถเห็นผลประกอบงานของธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างชัดเจน และบริษัทฯ ได้ดำเนินแผนการขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่มขึ้น และ ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ ขยายกำลังการหีบอ้อยเป็น 32,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีฤดูการหีบ 2556-2557จาก 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีฤดูการหีบ 2555-2556
นอกจาก ESC แล้ว กลุ่มน้ำตาลและอ้อยตะวันออก (“กลุ่มบริษัทฯ”) ยังประกอบธุรกิจอื่นๆ อีก เพื่อจะนำผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาใช้ประโยชน์ โดยกระบวนการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทรายจะผลิตชานอ้อยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาลทรายและนำชานอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเท่ากับ 32 เมกะวัตต์ อีกทั้ง เนื่องจากบริษัทฯ มีการเพิ่มกำลังการผลิตจึงทำให้มีปริมาณชานอ้อยที่ผลิตออกมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทฯ จึงตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าที่นำชานอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยดำเนินการอยู่ใต้บริษัท อี เอส พลังงาน จำกัด (“ESE”) จัดตั้งเมื่อปี 2556 โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเท่ากับ 23 เมกะวัตต์ และได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าในปี 2557 โดยจะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ จำนวน 20 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ในปี 2552 กลุ่มบริษัทฯ ได้จัดตั้ง บริษัท อี เอส เพาเวอร์ จำกัด (“ESP”) และ บริษัท อี เอส ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (“ESB”) โดย ESP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล โดยสามารถนำ กากน้ำตาลที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย หรือซื้อมันสำปะหลังเข้ามา เพื่อผลิตเอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง และจำหน่ายให้กับ ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 และ ผู้รับซื้อต่างประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ESP มีกำลังการผลิตเอทานอล 150,000 ลิตรต่อวัน ส่วน ESB ประกอบธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพ โดยนำน้ำกากส่าที่มาจากการผลิตเอทานอลของ ESP มาหมัก แล้วจำหน่ายก๊าซชีวภาพกลับไปให้แก่ ESP เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเอทานอลและใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดย ณ ปัจจุบัน ESB มีกำลังการผลิตที่สามารถรับน้ำกากส่าได้ 1,800 ลบ.ม ต่อวัน และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ ประมาณ 59,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นอกจากนี้ ในปี 2547 กลุ่มบริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจผลิตปุ๋ยชีวภาพและวัสดุปรับปรุงดิน เพื่อสนับสนุนการเกษตรของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้ บริษัท เกษตรอุสาหกรรม จำกัด (“ESIA”) โดยปัจจุบัน ESIA สามารถผลิตปุ๋ยด้วยกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี เพื่อทำการสนับสนุนชาวไร่และเกษตรกรอย่างสมบูรณ์แบบ ในปี 2554 กลุ่มบริษัทฯ ได้แยกหน่วยงานธุรกิจวิจัยและพัฒนาจาก ESC มาอยู่ภายใต้ บริษัท อี เอส วิจัยและพัฒนา จำกัด (“ESRD”) เพื่อเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัทฯ เน้นไปในด้าน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอ้อย น้ำตาลทราย กระบวนการผลิต และธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายเป็นหลัก อาทิเช่น การวิจัยพันธุ์อ้อยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำตาลทราย จุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักเอทานอลเพื่อลดฟองในกระบวนการหมักกากน้ำตาล และปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น ณ ปัจจุบัน ESRD มีโครงการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด 28 โครงการ